จริงหรือไม่?
- เบาหวาน ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
- คนอ้วนเท่านั้นที่เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้หญิงเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ชาย
- ตรวจเบาหวานต้องงดน้ำงดอาหาร
- ต้องตรวจคัดกรองโรคเบาหวานทุกปี
เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรัง รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถควบคุมให้เหมือนหายแล้วได้
อาจารย์ นายแพทย์ เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ อาจารย์หน่วยโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอริสม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้ข้อมูลว่า
“โรคเบาหวาน ถ้าผู้ป่วยมีวินัยในการรับประทานอาหาร ดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ ก็จะสามารถควบคุมจนไม่มีอาการของโรคได้ เหมือนหายจากการเป็นเบาหวาน แต่ที่บอกว่า ไม่สามารถรักษาให้หายขาดก็คือ ถ้าผู้ป่วยรู้สึกว่า ตัวเองหายแล้ว เลิกดูแลควบคุมไลฟ์สไตล์และการรับประทานอาหาร แน่นอนว่า อาการของโรคเบาหวานจะกลับมา รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะขึ้น”
ทั้งนี้ เบาหวาน เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิต แต่คนกลับไม่ค่อยหวั่นกลัว เพราะมักไม่แสดงอาการของโรค หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยอย่างช้าๆ แต่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง สามารถส่งผลให้ไตเสื่อม ตาบอด เป็นโรคปลายประสาทเสื่อม เกิดแผลที่เท้าเปื่อยเรื้อรัง ต้องถูกตัดเท้า หรือเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ในประเทศไทย อัตราการตายด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี ในแต่ละวันจะมีประชากรไทยจำนวน 180 รายเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน หรือเกือบ 8 รายต่อชั่วโมง1
การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงวันเบาหวานโลกปีนี้ มารู้จักวิธีการตรวจเบาหวานแบบใหม่ แบบไม่ต้องงดอาหาร เรียกว่า การตรวจค่าน้ำตาลสะสม หรือการตรวจฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ซึ่งสมาคมโรคเบาหวานของสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association; ADA)2 และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้กำหนดให้ใช้ HbA1c ในการวินิจฉัยการเป็นโรคเบาหวานได้3
อาจารย์ นายแพทย์ เพชร รอดอารีย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า…
“เม็ดเลือดแดงของเรามีอายุเฉลี่ยประมาณ 120 วัน เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือกลูโคส ก็จะเข้าสู่กระแสเลือด และไปจับฮีโมโกลบินเอ (HbA) ในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทางห้องปฏิบัติการสามารถตรวจวัดค่าฮีโมโกลบินที่มีน้ำตาลเกาะอยู่นี้ได้ เรียกว่า ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) หรือ การตรวจเอวันซี ทั้งนี้ ด้วยอายุเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดง ทำให้การตรวจเอวันซี เป็นการแสดงค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา4 การงดหรือไม่งดอาหารก่อนตรวจ จึงไม่มีผลต่อการตรวจ และไม่มีผลกระทบจากความแปรปรวนของระดับน้ำตาลในเลือด อันเป็นผลจากการรับประทานอาหารในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม การตรวจเบาหวานทุกรูปแบบ รวมถึงการตรวจสุขภาพ (Checkup) ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ”
“ผลการตรวจด้วยเอวันซี จึงมีความแม่นยำ และสะท้อนภาวะที่แท้จริงของผู้เข้ารับการตรวจ การเร่งฟิตร่างกายหรือควบคุมอาหารช่วงสั้นๆ ก่อนตรวจเบาหวานไม่ส่งผลต่อค่าเอวันซี ทำให้สามารถช่วยค้นหาผู้เสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานในอนาคต ผู้ที่เป็นเบาหวานแต่ยังไม่มีอาการของโรค รวมถึงเป็นเครื่องมือในการประเมินว่าผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมโรคได้ดีหรือไม่ ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม”
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน เช่น ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป, มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน, ไม่ออกกำลังกาย หรือมีญาติพี่น้องเป็นโรคเบาหวาน หลังจากตรวจคัดกรองแล้ว ผลคัดกรองอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถเว้นการตรวจได้ 1-3 ปี3
“ส่วนผู้ที่มีอาการเบาหวาน ควรตรวจเอวันซี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้แพทย์ประเมินและวางแผนการรักษาในระยะยาวได้อย่างเหมาะสม การตรวจเอวันซีทำให้ผู้เข้ารับการตรวจได้รับความสะดวกมากขึ้น ไม่หงุดหงิดหรือวิงเวียนจากการงดอาหาร 8-12 ชั่วโมงล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ลดการเตรียมตัว”
อาจารย์ นายแพทย์ เพชร รอดอารีย์ กล่าวเสริม
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้เป็นเบาหวานเกือบ 5 ล้านคน5 โดยเบาหวานเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับที่ 3 ของหญิงไทย6 พบว่าผู้หญิง 1 ใน 8 รายเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน และจำนวนผู้ป่วยมีมากกว่าผู้ชาย โดยที่ผู้หญิงเป็นเบาหวานถึงร้อยละ 9.8 ในขณะที่ผู้ชายเป็นเบาหวานเพียงร้อยละ 7.86
ทั้งนี้ ผู้หญิงไทยมีบทบาทที่ต้องดูแลอาหารการกิน และความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้ เวลาในการดูแลสุขภาพตนเองลดน้อยลงไป รวมถึงขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะผู้หญิงในต่างจังหวัด
วันเบาหวานโลกในปีนี้ สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ให้ความสำคัญเรื่อง “ผู้หญิงกับเบาหวาน” 6 ต้องการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการสุขภาพ และหาเวลาดูแลสุขภาพ รวมถึงตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหยุดเบาหวาน และป้องกันหรือชะลอโรคแทรกซ้อนอันเป็นสาเหตุที่ทำให้พิการและเสียชีวิตได้