“การสำลัก” อาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหล่นเข้าไปในช่องคอหรือหลอดลม ทำให้กีดขวางช่องทางการหายใจ ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ
ปกติแล้วการสำลักนั้นเกิดขึ้นแค่ครู่เดียวแล้วก็หาย อย่างไรก็ตาม การสำลักอาจเป็นอันตรายและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่าง “ผู้สูงอายุ”
ในกระบวนการกลืนอาหารโดยปกติ โคนลิ้นจะผลักอาหารให้เข้าไปอยู่ในคอหอย จากนั้นฝาปิดกล่องเสียงจะเคลื่อนตัวลงมาปิดทางเข้าของกล่องเสียง รวมทั้งสายเสียงทั้ง 2 ข้างจะเคลื่อนตัวมาชิดกันเพื่อปิดทางเข้าของหลอดลม ทำให้อาหารที่กำลังจะผ่านลงไปในทางเข้าของหลอดอาหารไม่สามารถหลุดเข้าไปในหลอดลมได้ จึงไม่เกิดการสำลัก แต่หากมีเศษอาหารหรือน้ำ หล่นเข้าไปอยู่ในหลอดลม จะทำให้เกิดอาการไอติดกันหลายๆ ครั้ง เพื่อขับดันให้เศษอาหารนั้นหลุดจากหลอดลม จนกลายเป็นการสำลักอาหาร
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานช้าลง ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มไม่แข็งแรงเหมือนเดิม แค่สำลักก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ เช่น หากสำลักอาหารเข้าไปในปอดอาจส่งผลทำให้ปอดติดเชื้อ หรือบางรายสำลักมากๆ จนกลัวการกลืนอาหาร ไม่ยอมรับประทานข้าว นำไปสู่ภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงคนไข้บางโรคที่มักสำลักน้ำลายหรือเสมหะ แล้วเข้าไปอุดกลั้นทางเดินหายใจ จนเกิดอาการหายใจล้มเหลว จนเสียชีวิตได้
สำหรับผู้ที่สำลัก จะมีอาการ ได้แก่ หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการหายใจแรงและเสียงดังผิดปกติ โดยมักจะใช้มือจับที่คอของตนเอง, พูดคุยตอบสนองไม่ได้, ไอแรง ๆ ไม่ได้, ผิวหนัง ริมฝีปาก และเล็บเริ่มเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ เนื่องจากขาดออกซิเจน, ขาดสติ ไม่รู้สึกตัว
สำลักบ่อยแค่ไหน หรือมีอาการแบบไหน ที่ต้องรีบมาพบแพทย์?
- เกิดการสำลักทุกครั้ง หรือเกือบทุกครั้งที่รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ
- เกิดการสำลักจนทำให้ หน้าแดง มีอาการไอ หรือหอบรุนแรง หรือมีอาการทางเดินหายใจอุดกั้น
- เคยมีประวัติการติดเชื้อจากการสำลักมาแล้ว
- สำลักจนกระทั่งรับประทานอาหารได้น้อย น้ำหนักลดลง
- การสำลักในผู้เป็นโรคกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคพาร์กินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม
อย่ามองว่า “การสำลัก” เป็นเพียงเรื่องเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้ง่าย เพราะหากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้นะคะ