“โรคสะเก็ดเงิน” เป็นโรคเรื้อรังที่มักเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำให้มีการอักเสบร่วมกับมีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วผิดปกติ ทั้งยังเป็นโรคที่อาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้หลากหลายหากว่าผู้ป่วยละเลยต่อการดูแลตนเอง โดยหนึ่งในโรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือ “โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน”
ผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินมากถึงร้อยละ 30 มีอาการแทรกซ้อนเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ซึ่งช่วงอายุของผู้ป่วยที่พบได้บ่อยคือ 30-50 ปี ในอัตราเฉลี่ยที่เท่ากันทั้งเพศหญิงและชาย
โดย รศ. พญ.ปวีณา เชี่ยวชาญวิศวกิจ สาขาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า…
โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มีการอักเสบของข้อต่อรวมกับผื่นผิวหนังของโรคสะเก็ดเงินไปพร้อมกัน ทั้งยังคาดว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการติดเชื้อบางอย่าง เป็นต้น
อาการสำคัญของโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ
- ข้อรยางค์อักเสบ ได้แก่ ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ เข่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวม ทำให้ต้องเคลื่อนไหวข้อลดลง มักมีอาการข้อฝืดขยับยากตอนเช้า และเมื่อขยับข้อหลายครั้ง อาการปวดขัดจะค่อยๆ น้อยลง
- เส้นเอ็นหรือกระดูกที่ยึดเกาะเส้นเอ็นอักเสบ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ เอ็นร้อยหวายใต้ฝ่าเท้า หากข้อนิ้วยึดติดร่วมกับเส้นเอ็นรอบข้อที่อักเสบก็จะสังเกตได้ว่าบริเวณข้อนั้นๆ จะมีลักษณะรูปร่างคล้ายๆ ไส้กรอก
- กระดูกสันหลังหรือข้อกระเบนเหน็บอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเมื่อนั่ง นอน หรืออยู่นิ่งเป็นเวลานาน รู้สึกหลังฝืดตึงขยับยากในตอนเช้า และอาการจะดีขึ้นเมื่อขยับหรือเคลื่อนไหวหลัง หรือมีอาการปวดก้นบริเวณข้างซ้ายและสลับไปข้างขวา เป็นต้น
อาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
- ต้องตื่นกลางดึกเนื่องจากอาการปวดหลังส่วนล่าง
- ข้อมือและนิ้วบวมหรือเคยมีอาการบวม
- มีอาการปวดหรือเคยปวดบริเวณส้นเท้า
ดังนั้น การสังเกตและดูแลตนเองเพื่อลดอัตราเสี่ยงจากโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน จึงนับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตและให้ความสำคัญมากๆ นะคะ