“เด็กคลอดก่อนกำหนด” ถือเป็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของแม่และเด็ก ทั้งยังต้องใช้เวลารักษาใน รพ.นาน ส่งผลให้การหมุนเวียนเตียงทำได้ยาก
ฉะนั้น การวางแผนการตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ โดยปัญหาคลอดก่อนกำหนดนี้ สามารถพบได้ทั้งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุมากกว่า 35 ปี
รศ.พญ.พิมล วงศ์ศิริเดช หัวหน้าสาขาทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเสวนา “ลูกเกิดก่อนกำหนดต้องทรหดทั้งครอบครัว” ในงาน 72 ปี กุมารเวชศาสตร์ศิริราช ว่า
ปัญหาเด็กคลอดก่อนกำหนดของประเทศไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศยังถือว่าเป็นปัญหาอยู่มาก และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากจำนวนการคลอดก่อนกำหนดอาจมีมากกว่าที่ได้รับรายงาน เช่น การคลอดก่อนกำหนดในถิ่นทุรกันดารแล้วอาจรายงานมาไม่ถึงส่วนกลาง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อัตราการรอดชีวิตของเด็กคลอดก่อนกำหนดของไทยมีสูงถึงกว่า 90% เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทั้งนี้ ความแข็งแรงของเด็กคลอดก่อนกำหนดจะขึ้นกับอายุครรภ์ โดยกลุ่มที่อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ มีโอกาสเสี่ยงต่อความพิการในระยะยาว เช่น เดินไม่ได้ เป็นต้น ความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท และพัฒนาการ โดยเด็กที่พบปัญหาดังกล่าวมีประมาณ 10 – 20% ซึ่งหากพบอาการเร็ว แพทย์จะทำการตรวจและส่งไปกระตุ้นในแผนกต่างๆ ก็สามารถแก้ไขได้มาก
ปัญหาคลอดก่อนกำหนดสามารถพบได้ทั้งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุมากกว่า 35 ปี เนื่องจากวัยรุ่นอาจดูแลตัวเองไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนวัยเกิน 35 ปี อาจมีปัญหาในเรื่องอายุที่มากเกินไป ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการมีบุตรคือ 20 – 35 ปี
นอกจากนี้ การคลอดก่อนกำหนดยังพบได้ในคุณแม่ที่มีบุตรยาก และต้องอาศัยวิธีการผสมเทียมทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงกลุ่มที่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดซ้ำอีก หรือมีความจำเป็น เช่น มีความดันหรือเบาหวานแทรกซ้อน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเด็กในครรภ์ จนต้องคลอดก่อนกำหนด เพื่อรักษาชีวิตแม่และเด็ก แต่หากเด็กน้ำหนักตัวน้อยมากเกินไป ก็มีโอกาสรอดชีวิตน้อยเช่นกัน ซึ่งจะมีการหารือกับคุณแม่ก่อน
ฉะนั้น ก่อนคิดจะมีเบบี๋ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพว่ามีความพร้อม หรือมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญต้องรีบมาฝากครรภ์ และมาตามกำหนด เพื่อลดปัญหาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ค่ะ