“หอย” ถือเป็นเมนูอาหารทะเลสุดโปรดของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของหอยแต่ละชนิด สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายสไตล์ แต่งานนี้จะหม่ำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้นะคะ เพราะหากไม่ใส่ใจเรื่องความสะอาดและคุณภาพของหอย อาจได้สารปนเปื้อนเป็นของแถม จนเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้!!
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า…
กรมฯ ร่วมกับ สำนักงานประมงอำเภอและเกษตรกรในพื้นที่เพาะเลี้ยงหอยบริเวณปากแม่น้ำ 5 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา แม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร แม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม แม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำบางตะบูน จ.เพชรบุรี และแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนโลหะหนักและเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ
โดยในปี 2559 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหอย ได้แก่ หอยแครง หอยแมลงภู่ และหอยนางรม และทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาการปนเปื้อนโลหะหนัก 4 ชนิด ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท สารหนู และแคดเมียม และเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ 3 ชนิด ได้แก่ เชื้อวิบริโอ คอเลอเร หรือเชื้ออหิวาต์, เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส หรือเชื้ออหิวาต์เทียม และวิบริโอ วัลนิฟิคัส
ผลการตรวจการปนเปื้อนโลหะหนัก 4 ชนิด พบว่า…
ตรวจพบสารแคดเมียมเกินเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 1.8 ซึ่งตามมาตรฐานสหภาพยุโรปกำหนดให้แคดเมียมไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนตะกั่ว ปรอท และสารหนูอนินทรีย์ ตรวจพบไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง
ส่วนผลการตรวจเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ พบการปนเปื้อนเชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส และพบเชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ปนเปื้อนในตัวอย่างหอยบ้าง แต่ไม่พบ เชื้อวิบริโอ คอเลอเร ซีโรไทป์ O1 และ O139 ซึ่งเป็นเชื้อต้นเหตุที่สำคัญของอหิวาตกโรค
อาหารทะเลของประเทศไทย โดยเฉพาะหอยสองฝามีการปนเปื้อนโลหะหนักบ้าง แต่เล็กน้อย เพราะสัตว์ที่หากินตามโคลนตม ผิวหน้าดินในทะเล ส่วนการตรวจพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษที่สำคัญ คือ เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส และเชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังก่อโรครุนแรง ถึงแก่ชีวิตได้ ในบุคคลที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือผู้ป่วยโรคตับ เชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้ พบได้ทั่วไปในน้ำทะเลตามธรรมชาติ
เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ควรกินหอยดิบหรือหอยที่ปรุงไม่สุกดี ควรแยกอาหารสุกและดิบออกจากกัน เพื่อป้องกันการปนเปื้อน และล้างภาชนะที่ใช้ใส่หอยดิบให้สะอาดก่อนนำไปใส่อาหารอื่นด้วยนะคะ