INFOGRAHPIC: สัญญาณเตือน “วัณโรค” พบไทยมีหลายสายพันธุ์ ควบคุมโรคยาก

0

วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่สามารถแพร่กระจายทางอากาศไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย แม้หลังจากที่มีการค้นพบยาที่ใช้รักษาได้ผลดี และมีวัคซีนฉีดป้องกันจะทำให้ผู้ป่วยวัณโรคลดน้อยลง แต่ปัจจุบันโรคนี้ได้รับความสนใจจากองค์การอนามัยโลก เนื่องจากอัตราการติดเชื้อเริ่มมากขึ้นและมีเชื้อที่ดื้อยามากขึ้น

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า…

กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในการในการศึกษาเรื่องเชื้อวัณโรค โดยพบว่า ประเทศไทยมีเชื้อวัณโรคที่พบบ่อยสองสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ปักกิ่ง และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันออกและอินเดีย ซึ่งสายพันธุ์ปักกิ่งมักพบได้ในผู้ป่วยวัยทำงาน ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาฯ มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

การศึกษาทางระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ ทำให้ทราบว่าผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อวัณโรคคนละสายพันธุ์ มีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ผู้ป่วยจากเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ปักกิ่ง มักมียีน HLA-DRB1*09:01 ซึ่งเป็นยีนที่พบได้บ่อยในคนเอเชียและทำหน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่ผู้ที่ป่วยจากเชื้อวัณโรคสายพันธุ์แอฟริกาตะวันออกและอินเดีย มักจะพบยีน CD53 ทำงานไม่เหมือนกับคนปกติ

นั่นแสดงว่าเชื้อวัณโรคทั้งสองสายพันธุ์มีกลไกในการก่อโรคที่แตกต่างกัน ทำให้คนที่ป่วยเป็นวัณโรคจากเชื้อสายพันธุ์หนึ่งและรักษาจนหายแล้ว ยังมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคซ้ำจากเชื้อสายพันธุ์อื่นได้อีก

infographic-tuberculosis-warning-2

สำหรับประเทศไทยและประเทศแถบอาเซียน พบผู้ป่วยจากเชื้อวัณโรคหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้ควบคุมโรคได้ยากกว่าประเทศอื่นที่มักพบผู้ป่วยวัณโรคจากเชื้อเพียงสายพันธุ์เดียว

ความหลากหลายทางสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคที่ระบาดในประเทศไทย ทำให้การควบคุมโรคยากลำบาก โดยการยุติวัณโรคในประเทศที่มีเชื้อวัณโรคหลากหลายสายพันธุ์ ต้องใช้มาตรการเชิงรุก ได้แก่ การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ การคัดกรองผู้สัมผัสโรคอย่างเป็นระบบ และรักษาวัณโรคแฝงในเด็ก

ฉะนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองและคนรอบข้าง หากมีอาการของวัณโรค อาทิ ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ เจ็บแน่นหน้าอก มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือเย็น เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร น้ำหนักลด  ครั่นเนื้อครั่นตัว เหงื่อออกกลางคืน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา โดยมาดามขอแปะอินโฟกราฟฟิกแบบง่ายๆ ให้เพื่อนๆ ได้ลองอ่านไว้สังเกตอาการตัวเองกันด้วยนะคะ

infographic-tuberculosis-warning

การรักษาจะได้ผลดีต่อเมื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก กินยาอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอและกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน ก็จะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของวัณโรคได้ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *