การกระจุกตัวอาศัยอยู่ในเมืองหลวงเพื่อทำงานในย่านธุรกิจของชาวไทย ทำให้หลายคนเลือกอาศัยอยู่ในคอนโด เพื่อสะดวกในการเดินทางไปทำงาน แม้จะช่วยย่นระยะเวลาเดินทางได้ แต่บางคนกลับมีปัญหาสุขภาพ อาทิ คลื่นไส้ ปวดหัว คัดจมูก ไอจาม ผดผื่นคัน ซึ่งนั่นอาจเพราะคุณป่วยด้วย “โรคตึกเป็นพิษ”
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ได้ให้ข้อมูลที่ว่า…
จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยอาคารชุดใน กทม. พบว่า มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบตอนเช้ากลับค่ำส่งผลต่อสภาวะความเครียด ขาดปฏิสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัย ละเลยกฎการอยู่ร่วมกัน มีลักษณะครอบครัวเดี่ยวที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและเสี่ยงต่อ “โรคตึกเป็นพิษ”
“โรคตึกเป็นพิษ” (Sick Building Syndrome : SBS)
เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากมลพิษภายในอาคาร ทั้งที่เกิดจากโครงสร้างและดีไซน์ของอาคาร การวางระบบหมุนเวียนอากาศไม่ดี โดยเฉพาะระบบการระบายอากาศของเครื่องปรับอากาศ หรือเกิดจากฝุ่นละอองจากเครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงสารระเหยจากสีทาผนัง กาว ไม้อัด สารเคลือบเงาต่างๆ ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด ฝุ่นจากพรมที่ไม่ได้ทำความสะอาด เป็นต้น
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน เคืองตา ตาแดง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ระคายคอ อ่อนล้า ปวดศีรษะ เนื่องจากระบบหมุนเวียนอากาศ ฝุ่นละออง และเชื้อโรคภายในตึก อาการป่วยดังกล่าวเป็นอาการที่ไม่มีลักษณะเฉพาะโรค โดยอาการมักจะหายไปเมื่อออกนอกอาคาร
สิ่งที่ค้นพบสอดคล้องกับผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ในการสำรวจวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดของ กทม. พบว่า สิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกัน ร้อยละ 95 มองว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎการอยู่รวมกันเป็นปัญหาหลักของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน ตามด้วยต้องการกำหนดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อความสุขสงบร้อยละ 79 และความไม่รู้จักกัน ต้องการให้ผู้ดูแลคอนโดดูแลสุขทุกข์ของผู้อยู่อาศัยร้อยละ 67
ทั้งนี้ โรคตึกเป็นพิษ สามารถป้องกันได้ตั้งแต่การวางแผนก่อสร้างอาคารให้ได้มาตรฐาน จัดให้มีการออกแบบและระบบการระบายอากาศที่ดี เช่น ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เพิ่มจำนวนหน้าต่างเพื่อให้อากาศหมุนเวียนสะดวก หรือเลือกคอนโดที่ได้มาตรฐาน ศึกษาระบบต่างๆ ภายในอาคารให้รอบคอบก่อนซื้อ
นอกจากนี้ควรรักษาความสะอาดห้องพักในคอนโดเป็นประจำเพื่อลดฝุ่น เชื้อรา เครื่องปรับอากาศ และควรทำความสะอาดผ้าม่าน พรม ฯลฯ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือยิ่งบ่อยเท่าไหร่ก็ยิ่งดีนะคะ