“ความรักและเข้าใจ” สิ่งสำคัญในการเยียวยาเด็กสมาธิสั้น

0

“โรคสมาธิสั้น” อาจมีสาเหตุมาจากพันธุ์กรรม หรือเกิดจากภาวะที่มีผลต่อสมองนับตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่งผลให้สารสื่อประสาทที่คุมสมาธิมีปริมาณน้อยกว่าเด็กปกติเด็กจึงมีสมาธิสั้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่การเลี้ยงดูที่ดีสามารถช่วยทำให้เด็กมีอาการดีขึ้นได้ ฉะนั้น พ่อแม่ต้องใส่ใจในการเลี้ยงดูลูกน้อยผู้มีสมาธิสั้น

ข้อมูลจาก นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า…

การเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหลายครอบครัวอาจมองข้ามไปว่าการที่เด็กดื้อ ซน อยู่ไม่นิ่ง ชอบปีนป่าย หุนหันพลันแล่น เหม่อลอย หลงลืมบ่อย ทำการบ้านไม่เสร็จ ไม่เป็นระเบียบ เป็นธรรมชาติของเด็กที่กำลังโต จนเกิดความชะล่าใจ เมื่อปล่อยนานไปก็ยิ่งมีอาการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วเด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้น

แม้โรคสมาธิสั้นเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องพันธุกรรม ดังนั้น อาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่พฤติกรรมหรืออาการที่เป็นปัญหาอาจจะดีขึ้นได้ หรือแตกต่างกันได้ด้วยเรื่องของการเลี้ยงดู หากพ่อแม่เลี้ยงดูเอาใจใส่ แม้ว่าเด็กจะดื้อซน แต่เราหนักแน่น ก็จะช่วยให้อาการสมาธิสั้นรบกวนเวลาเรียน รบกวนคุณพ่อคุณแม่น้อยลงไปได้ อีกส่วนหนึ่งก็คือการเอาใจใส่ดูแล สร้างความผูกพันกับลูก จะทำให้เขาเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น

love-and-understanding-essential-to-healing-adhd

สภาพแวดล้อมในสังคมปัจจุบันก็มีส่วนที่จะทำให้การดูแลเด็กสมาธิสั้นมันยากขึ้น พ่อแม่จึงใช้วิธีให้เครื่องมือต่างๆ เป็นตัวที่ทำให้ลูกจอมซนอยู่นิ่ง เช่น เกมในโทรศัพท์บ้าง ทีวีบ้าง ซึ่งจริงๆ การที่เด็กอยู่นิ่งกับสื่อทีวี หรือเกมในโทรศัพท์ ไปนานๆ ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ขาดโอกาสที่จะฝึกเรื่องระเบียบวินัยต่างๆ หรือมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีๆ หรือเล่นกับเด็ก ซึ่งจะมีผลสำหรับการดูแลเด็กในภายหลัง รวมถึงโรคสมาธิสั้นด้วย

หัวใจสำคัญ เมื่อสงสัยว่าลูกเป็นเด็กสมาธิสั้นควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ และคนที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันเพื่อช่วยกันปรับเปลี่ยน โดยพ่อแม่ควรตื่นตัวหมั่นสังเกตอาการของลูก อย่าใช้อารมณ์กับลูก เพราะเด็กไม่ได้อยากจะเป็น เพียงแต่ควบคุมตัวเองไม่ได้

ทั้งนี้ การรักษาโรคสมาธิสั้นนั้น ปัจจุบันจะใช้ยาช่วยประคับประคองและควบคุมอาการ แต่ไม่หายขาด แต่เด็กที่เป็นสมาธิสั้นบางส่วนเมื่อโตขึ้นในวัยผู้ใหญ่ อาการจะดีขึ้น ถึงขั้นหยุดยาได้ ทั้งนี้การเลี้ยงดูถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจ

นอกจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้ว ความเข้าใจของคุณครู และกำลังใจของคนรอบข้างนั้นมีความสำคัญต่อเด็กสมาธิสั้น และสามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้มีอาการดีขึ้น และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *