“ยา” ถือเป็นความหวังของผู้ป่วย เพราะคิดว่าเมื่อรับประทานยา ย่อมทำให้อาการป่วยบรรเทาลงจนถึงขั้นหายเป็นปกติได้ แต่หลายครั้งที่การใช้ยาผิดประเภทและผิดวิธีนำไปสู่อันตราย สำหรับผู้ป่วยโลกไตก็เช่นกัน หลายคนไม่ทราบว่าการใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อไตและทำให้เกิดอาการไตวายเรื้อรัง
ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และประธานอนุกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล ให้ข้อมูลว่า…
จากการสำรวจสถิติผู้ป่วยโดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าประชากรไทย 17% หรือประมาณ 8 ล้านราย กำลังป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก และสูงเป็นลำดับ 3 ของประเทศในอาเซียน และที่น่าเป็นห่วงคือในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 2 แสนคน และมีอัตราการเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 8,000 ราย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากเบาหวานและความดันเลือดสูง แต่อีก 5-10% เกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม
- กลุ่มยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAID)
- ยาปฏิชีวนะที่ใช้โดยไม่จำเป็น
- ยาบำรุงหรือยาเสริมที่ใช้กันทั่วไป
โดยยาที่ทำให้เกิดโรคไต พบในผู้ป่วย 4 แบบ คือ
- ทานยาที่เป็นพิษต่อไตโดยตรง แบบนี้พบบ่อยที่สุด
- ยาที่มีผลให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง
- ยาที่ทำให้เกิดการตกตะกอนในท่อไตหรือท่อปัสสาวะ
- แพ้ยา นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับขนาด ปริมาณ และระยะเวลา หากทานต่อเนื่องเป็นเวลานานก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไตวายเรื้อรัง
ถ้าดูแลการใช้ยาให้เหมาะสมได้ดีขึ้น ปัญหาโรคไตก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ มีผู้ป่วยโรคไตจำนวนไม่น้อยพยายามหาทางรักษาโรคไตการซื้อยากินเองโดยไม่ทราบว่ายาที่รับประทานมีฤทธิ์ทำลายไตทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว การรักษามีแค่ 3 วิธี คือ 1.ฟอกเลือด 2.ล้างไตทางช่องท้อง และ 3.ปลูกถ่ายอวัยวะ
ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยไตก็คือ ให้ไปพบแพทย์ ไปตรวจตรงเวลา ไม่ซื้อยากินเอง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเท่านี้ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย