สร้างความสะเทือนใจอย่างยิ่ง สำหรับการแพร่ภาพสดการฆ่าตัวตายผ่านโซเชียลมีเดีย ที่มีข่าวปรากฏให้เห็นเมื่อไม่นานนี้ นอกจากทำให้รู้สึกสลดหดหู่แล้ว อาจทำให้เกิดการเลียนแบบในผู้ที่สภาพจิตใจเปราะบางหรือเผชิญกับปัญหาทุกข์ใจต่างๆ ไม่อยากให้สมาชิกในครอบครัวเป็นหนึ่งในนั้นก็ต้องรู้จักป้องกันค่ะ
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการแพร่ภาพสด (live) การฆ่าตัวตายผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า…
ปัจจุบันมีมากขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1-2 ราย ส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบาง มีปัญหาทุกข์ใจคล้ายๆ กัน หรืออาจเคยมีความคิดอยากตาย ถ้าเป็นเด็ก เยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ อาจเข้าใจผิดคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย การตอบรับจากผู้ชมจำนวนมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น
ดังนั้น หากพบเห็นต้องรีบยับยั้ง อย่าส่งต่อ และไม่ดูการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต เช่น รู้สึกสะเทือนใจ เครียดฝังใจ ครุ่นคิด จนนอนไม่หลับ เป็นภาพติดตา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต โดยผู้ที่ฆ่าตัวตายมักจะส่งสัญญาณเตือนมาก่อน เช่น จากคำพูด การเขียนจดหมาย การส่งเอสเอ็มเอส การส่งไลน์ การโพสต์ข้อความบนโซเชียล เป็นต้น แต่ก่อนลงมือมักจะลังเล พะวักพะวง ในระยะนี้การช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดจึงสำคัญ และป้องกันการฆ่าตัวตายที่ดีที่สุด
การปรากฏตัวในโลกโซเชียลเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่าเขาอาจยังมีความลังเลอยู่ กำลังร้องขอความช่วยเหลือ ดังนั้น ให้ช่วยประวิงเวลา ให้กำลังใจ ให้ข้อคิด สนทนาเรียกสติ ยับยั้งความคิด ให้หลุดพ้นห้วงอารมณ์นั้น ให้ผ่านพ้น 24 ชั่วโมงไปให้ได้ อย่านิ่งเฉย ท้าทาย เยาะเย้ย ด่าว่า หรือ ตำหนิ ควรโทร.แจ้ง 191 หรือขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323
การป้องกันการฆ่าตัวตายโดยหลักพื้นฐาน คือ การมีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยึดหลักศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ฝึกสติ ฝึกสมาธิ หาเพื่อนปรึกษา พูดคุยระบาย ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว ตลอดจนขอรับคำปรึกษาจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ครอบครัวควรหมั่นสังเกตความเป็นไปของสมาชิกในบ้าน รวมถึงหากิจกรรมทำร่วมกันเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวและลดความเครียด เพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ให้เกิดขึ้น