เพราะลูกเป็นของขวัญที่ล้ำค่า ยิ่งเบบี๋ที่เพิ่งลืมตาดูโลกด้วยแล้ว พ่อแม่ย่อมเป็นห่วงเป็นใยแม้เพียงเรื่องเล็กน้อย “ปาน” ถือเป็นอาการที่พบบ่อยในทารก และมักสร้างความวิตกกังวลให้พ่อแม่มือใหม่อย่างมาก เพราะเกรงว่าจะดูไม่สวยงามและทำให้ลูกไม่มั่นใจเมื่อโตขึ้น อีกทั้งยังกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้
“ปาน” แต่กำเนิด 4 ชนิดที่พบบ่อยในทารก
1.ปานมองโกเลียน (Mongolian spot)
มีลักษณะเป็นผื่นราบสีเขียว ฟ้าเทา หรือ ฟ้าเข้ม พบได้บ่อยบริเวณก้นและสะโพก แต่อาจปรากฎที่บริเวณอื่นใดของร่างกายก็ได้ เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ หนังศีรษะ ลำตัว เป็นต้น ปานมองโกเลียนมักพบในเด็กที่มีเชื้อชาติเอเชีย และแอฟริกา ปานนี้จะค่อยๆ จางลง และหายไปเมื่อเข้าสู่วัยเด็ก
2.ปานดำแต่กำเนิด (Congenital melanocytic nevus)
มีลักษณะเป็นผื่นราบหรือนูน สีของปานมีได้ตั้งแต่ ดำ น้ำตาลและฟ้า เป็นปานที่เกิดจากการมีการแบ่งตัวเพิ่มของเซลล์ที่สร้างเม็ดสีของผิวหนัง เมื่อผู้ป่วยโตขึ้น ผิวของปานอาจขรุขระมากขึ้น บางครั้งอาจพบขนงอกยาวหรือดกบริเวณที่มีปาน หากมีปานขนาดใหญ่มักมีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้
3.ปานสีกาแฟใส่นม (Café au lait)
มีลักษณะเป็นผื่นราบสีน้ำตาลอ่อน มักมีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตค่อนข้างชัดเจน มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันได้มาก ขนาดของปานจะโตขึ้นตามอายุ และจะคงอยู่ตลอดชีวิต ส่วนใหญ่ปานชนิดนี้ไม่ได้มีอันตราย แต่หากพบปานปริมาณมากหรือมีขนาดใหญ่ อาจพบได้ในโรคพันธุกรรมบางชนิด
4.ปานแดงหลอดเลือด (Port wine stains)
มีลักษณะเป็นปานสีแดงหรือแดงอมม่วงคงอยู่ไม่จางหายไป ขนาดของปานจะโตขึ้นตามอายุ มักอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปานจะมีสีเข้มขึ้น อาจนูนหนาและขรุขระเพิ่มขึ้น ตามอายุที่มากขึ้น หากพบปานชนิดนี้บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาจพบร่วมกับความผิดปกติของดวงตาและสมองได้
หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของปาน เช่น มีอาการบวมแดง มีสีเปลี่ยนไป ผิวสัมผัสเปลี่ยนไป ขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา