เช็คซิ… ลูกวัยซนเป็นเด็ก “ขี้กลัว” หรือเปล่า?

0

แม้ “ความกลัว” จะเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย ในส่วนของเด็กวัยซนนั้น คุณพ่อคุณแม่คงอยากรู้ว่าความกลัวของลูกเกิดเพราะลูกยังเป็นเด็กเล็กอยู่ หรือว่ากลัวเกินเหตุกันแน่

ว่าแล้วมาเช็คกันดูดีกว่าค่ะว่า ลูกรักวัยซนของคุณเป็นเด็ก “ขี้กลัว” หรือ “ขี้วิตกกังวล” เกินกว่าเหตุหรือเปล่า?

“ความกลัว” กับ “เด็ก” เป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้น ไม่ว่าจะกลัวความมืด กลัวเสียงฟ้าร้อง กลัวคนแปลกหน้า หรือกลัวในเรื่องที่ไม่สมควรกลัว ซึ่งความกลัวเหล่านี้สร้างความวิตกให้กับพ่อแม่จำนวนไม่น้อย เพราะไม่อยากให้ลูกเติบโตเป็นเด็ก “ขี้กลัว” จนกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของลูก

little child girl crying and sad about brick wall

ทั้งนี้ ความกลัวของคนเราแตกต่างไปตามวัย โดยเด็กวัย 3-5 ปี เป็นวัยที่เริ่มคิดฝัน มีจินตนาการแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เขากลัว คือ สิ่งที่เขาคิดว่ามีอยู่จริง เช่น ผี งูกินคน สัตว์ประหลาด ส่วนเด็กวัย 6-12 ปี ความกลัวของเด็กวัยนี้มักเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ไฟไหม้บ้าน น้องหมาตาย สอบตก ถูกพ่อแม่เอาไปทิ้ง ฯลฯ

ถ้าลูกมีความกลัวตามวัยที่กล่าวมาคงไม่น่ากังวล แต่ถ้า “ขี้กลัว” หรือ “กลัวเกินเหตุ” ควรหมั่นสังเกตและดูแลแก้ไขกันเสียเนิ่น ๆ โดยเฉพาะหากเจ้าตัวซนของคุณมีอาการเหล่านี้

  1. ขี้อาย ไม่ชอบเข้าสังคม กลัวคนแปลกหน้า เด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูด มีเพื่อนในห้องน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นให้กำลังใจ รวมถึงพาเขาออกไปเจอกับคนแปลกหน้าบ่อย ๆ
  2. ขี้ระแวง กลัวการพลัดพราก เด็กกลุ่มนี้จะกลัวการที่ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ กลัวการเข้านอนคนเดียว มักไม่ชอบไปโรงเรียนเพราะกลัวว่าพ่อแม่จะทิ้งเขาไว้ที่โรงเรียน อาจมีอาการทางกายภาพร่วมด้วย เช่น ฝันร้าย ฉี่รดที่นอน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพูดอะไรที่ส่อไปในทางที่จะทิ้งเขาไป เด็กจะยิ่งกลัวไปกันใหญ่
  3. ขี้กลัวโดยธรรมชาติ เรียกว่าขี้กลัว ขี้ระแวงไปกับทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าฝนตก ฟ้าร้อง กลัวคุณครูตี หรือกลัวเพื่อนจะไม่ชอบ ฯลฯ พ่อแม่ควรหมั่นถามถึงความเป็นไปของลูก จะได้รู้สึกว่าเขามีคุณค่า หรืออาจเบี่ยงเบนความสนใจลูกจากสิ่งที่กลัว เช่น พาไปอยู่ในที่ซึ่งห่างจากเสียงดัง กอดปลอบใจให้รู้ว่าคุณอยู่ข้างเขา
  4. ขี้กลัวอย่างรุนแรงและยาวนาน เช่น กลัวความสูง กลัวฟ้าร้อง กลัวแมงมุม กลัวที่คับแคบ ฯลฯ ซึ่งถ้าเด็กมีอาการกลัวสิ่งเหล่านี้เป็นระยะเวลานานโดยไม่มีอาการทุเลาลงเลย ควรพาไปปรึกษาแพทย์

พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์หรือหาทางแก้ เพราะการแก้ไขแต่เนิ่น ๆ จะประสบผลสำเร็จได้ง่าย แต่หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นนิสัยติดตัวที่ยากจะแก้ไข

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *