สร้างความสับสนงงงวยได้ไม่น้อยจากกรณีสื่อสังคมออนไลน์แพร่ข้อมูลที่อ้างว่าเป็นงานวิจัยใหม่ในต่างประเทศ ระบุว่า คนไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย เสี่ยงตายก่อนวัยอันควรสูง เรียกว่าสวนทางกับที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่า หากอยากสุขภาพดี ลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ แล้วอย่างนี้จะเชื่ออะไรดีล่ะ??
โดยงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า…
คนไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย เสี่ยงตายก่อนวัยอันควรสูงโดยเฉพาะคนที่ไม่เคยแม้กระทั่งจิบแอลกอฮอล์เลยแม้แต่น้อย มีอัตราการตายสูงที่สุด อัตราการตายลดลงมาในคนที่ดื่มหนัก และอัตราการตายน้อยที่สุดในคนที่ดื่มปานกลาง ที่ดื่มวันละ 1 – 3 แก้ว
เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ารายงานผลการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติตั้งแต่ปี 2553 หรือประมาณ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นงานวิจัยใหม่ตามที่กล่าวอ้าง ที่สำคัญ งานวิจัยนี้มาจากการบอกเล่าของกลุ่มตัวอย่างที่เคยดื่มหนักมาก่อน เป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มอัตราการตายโดยตรง โดยไม่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา ซึ่งนักวิจัยเองก็ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดต่างๆ ของงานวิจัย
ทั้งยังเน้นย้ำว่า การดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงของการหกล้ม และการดื่มหนักในคนกลุ่มนี้ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะเหล่านี้ได้ง่ายอยู่แล้ว
ตรงกันข้ามกับงานวิจัยที่แชร์ผิด ๆ ผ่านทางสังคมออนไลน์เหล่านี้ งานวิจัยที่มีคุณภาพหลายชิ้นให้ผลไปในทางเดียวกันถึงโทษของการดื่มสุราโดยงานวิจัยปี 2554 ของ Michael Roereckeและ JurgenRehm ระบุว่า “ผู้ที่เลิกดื่ม หรือไม่ได้ดื่มใน 1 ปีที่ผ่านมา มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่าผู้ที่แทบจะไม่เคยดื่มเลยในชีวิต” ส่วนรายงานวิจัยล่าสุดปี 2558 ของ Professor Tim Stockwell และคณะ ได้รวบรวมงานวิจัยจำนวน 87 ชิ้น พบว่า การดื่มสุราในปริมาณน้อย หรือน้อยกว่า 20 กรัม ของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อวัน ไม่ได้ช่วยลดอัตราการตายลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มเลยในชีวิต หรือผู้ที่ดื่มเป็นครั้งคราว
ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยอันน่าเชื่อถือที่ยืนยันถึงผลดีของสุราต่อสุขภาพ ฉะนั้นหากอยากสุขภาพดีไม่ควรใช้วิธีดื่มสุรา แต่ควรดูแลสุขภาพด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่มีโทษ เช่น การออกกำลังกาย, การควบคุมอาหาร เป็นต้น