“ซิฟิลิส” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถกระจายไปยังระบบต่าง ๆ ทั่วร่างกาย สำหรับกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจโรคนี้เป็นพิเศษ คือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะมีเบบี๋ เพราะปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดซึ่งติดจากมารดา มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เลยล่ะค่ะ
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบว่า… ปัจจุบันสถานการณ์โรคซิฟิลิสในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 มีผู้ป่วยโรคซิฟิลิส 1,557 ราย และเพิ่มเป็น 3,373 รายในปี 2558 เป็นเพศชาย 2,308 ราย เพศหญิง 1,065 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากสุด คือกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี และกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป
ส่วนผู้ป่วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (เด็กแรกเกิด ถึง 2 ปี) ก็พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆ ปีเช่นกัน โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2558 พบผู้ป่วยมากถึง 91 ราย
ซิฟิลิสแต่กำเนิดเกิดจากมารดาที่ติดเชื้อซิฟิลิสถ่ายทอดเชื้อสู่ลูกผ่านทางรก อัตราการติดเชื้อของทารกในครรภ์ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อในกระแสเลือดของมารดา ถ้ามารดาเป็นโรคในระยะที่มีเชื้อจำนวนมาก เช่นซิฟิลิสระยะที่ออกผื่น ทารกก็มีโอกาสติดเชื้อสูง โดยซิฟิลิสในหญิงท้องเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์มาก เนื่องจากเชื้อสามารถผ่านรกไปยังทารกทำให้เกิดการติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ซึ่งความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับปริมาณเชื้อในกระแสเลือด และระยะของการตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ผลคืออาจทำให้เกิดการแท้ง คลอดก่อนกำหนด ทารกโตช้า ทารกพิการแต่กำเนิด ทารกบวมน้ำ และอาจตายได้
เพื่อความปลอดภัยแก่แม่และเด็กก่อนคิดจะมีลูกพ่อแม่ควรมีการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสเสียก่อน จากข้อมูลข้างต้นพบว่า ทารกที่ป่วยส่วนหนึ่งเป็นจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับการฝากครรภ์ จึงไม่ได้รับการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อซิฟิลิส หรือบางรายรับการฝากครรภ์แล้วไม่มีการติดตามผลเลือด กรณีติดเชื้อจึงไม่ได้รับการรักษา จนตรวจพบเมื่อเข้ารับบริการคลอดในสถานพยาบาล
เพื่อความปลอดภัยไร้โรคของเบบี๋สุดที่รัก คุณแม่สามารถป้องกันโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดให้ลูกได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ โดยการฝากครรภ์และตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ ค่ะ