“โรคหัด” นับเป็นอีกหนึ่งโรคสำคัญที่พบบ่อยในเด็กเล็กอายุ 1 – 6 ปี สามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด โดยเชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ ที่น่ากลัวคือ หากเด็กขาดวิตามินเอ เมื่อเป็นหัดจะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 พฤศจิกายน 2559 พบผู้ป่วยโรคหัด 1,548 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
โดยพบผู้ป่วยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี 869 ราย คิดเป็นร้อยละ 56.1 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ภูเก็ต และ กรุงเทพมหานคร ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้
โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่นที่มีระยะฟักตัวประมาณ 8 – 12 วัน จากนั้นจะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง มีผื่นขึ้นประมาณวันที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายไปทั่วตัวและจางหายไปภายในเวลาประมาณ 14 วัน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคหัดอาจมีโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง ช่องหูอักเสบ สมองอักเสบและภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร หรือขาดวิตามินเอ เมื่อเป็นหัดจะมีความรุนแรงมาก และถ้ามีปอดอักเสบร่วมด้วย อาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการรักษาโรคหัด หากมีไข้สูงมากให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการเช็ดตัว ให้ยาแก้ไอที่เป็นยาขับเสมหะได้เป็นครั้งคราว โดยไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ ให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อนที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน และให้วิตามินเอเสริม
วิธีปกป้องเจ้าตัวเล็กจากโรคหัด
- พาเจ้าตัวซนไปรับวัคซีนตามกำหนดนัดหมายให้ครบถ้วนทุกครั้ง
- เก็บรักษาสมุดอนามัยแม่และเด็ก (สมุดสีชมพู) ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับตัวเด็กในการตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนเมื่อเข้าเรียน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย รวมถึงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น และหากสงสัยว่าลูกป่วยด้วยโรคหัดควรรีบพาไปพบแพทย์
เพื่อป้องกันโรคหัด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน โดยปัจจุบันกำหนดให้วัคซีนป้องกันโรคหัดแก่เด็กรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9 – 12 เดือน ครั้งที่สองอายุ 2 ปี 6 เดือน