พิษจาก “แมลงก้นกระดก” ไม่ทำให้ตายแต่ไม่ควรรักษาแผลเอง

0

สร้างความตื่นตระหนกให้ชาวโซเชียลได้มากทีเดียว จากกรณีการแชร์ภาพผื่นผิวหนังจากแมลงก้นแหลมชนิดหนึ่งทางสื่อสังคมออนไลน์ แถมแต่ละเวอร์ชั่นที่แชร์กัน ความรุนแรงของโรคก็จะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นระบุว่าพิษจากแมลงดังกล่าวรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตทีเดียว!!

แมลงในภาพที่มีการแชร์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์นี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “ด้วงก้นกระดก” หรือชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ แมลงก้นกระดก ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน ด้วงกรด แมลงเฟรชชี่

Lordithon lunulatus on fungi

ตัวเต็มวัยมีสีดำสลับส้ม ยาวประมาณ 5 – 7 มิลลิเมตร หัวสีดำ อกส่วนหน้าแบนยาว ส่วนท้องมี 6 ปล้อง 4 ปล้องแรก สีส้มอมน้ำตาล ส่วนที่เหลือสีดำ ขาทั้ง 3 คู่ มีสีน้ำตาลแดง ปีกแข็งด้านบนสีน้ำเงินเข้มและปีกอ่อนข้างใต้ เป็นแมลงที่มีอายุอยู่ได้ยาวนาน บินได้เร็วและว่องไว เวลาวิ่งจะยกปลายท้องตั้งขึ้นคล้ายแมงป่อง

ด้วงก้นกระดกจะมีสารพิษชื่อว่า พีเดอริน (Paederin) มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนสามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้ โดยตัวเมียจะมีปริมาณสารพิษมากกว่าตัวผู้ ทั้งนี้ อาการผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสสารพีเดอรินของด้วงก้นกระดกจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่จะมีอาการหลังสัมผัสแล้วประมาณ 8 – 12 ชั่วโมง โดยจะทำให้เกิดผื่นระคายเคืองแดงคัน ส่วนอาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณสารพิษที่สัมผัส

สำหรับรอยโรคมักพบบริเวณนอกร่มผ้า มีลักษณะเป็นผื่นแดง หรือเป็นรอยไหม้ รูปร่างมักเป็นทางยาว ทิศทางหลากหลายตามรอยการปัด ผื่นมีขอบเขตชัดเจน ต่อมาจะมีตุ่มน้ำพองใสและตุ่มหนองขนาดเล็กเกิดขึ้นตามมาในเวลา 2 – 3 วัน อาการคันมีไม่มากนัก แต่มักมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย เมื่อสัมผัสกับสารพีเดอรินในบริเวณรอยพับต่างๆ อาทิ ข้อศอก ข้อเข่า จะเกิดผื่นสองผื่นที่ลักษณะคล้ายกันในแต่ละด้านอย่างไรก็ตาม อาการอักเสบเหล่านี้จะหายไปในเวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ โดยอาจจะมีรอยดำหลังการอักเสบได้ในระยะสั้นๆ แต่มักจะไม่เป็นแผลเป็น

หากมีอาการผิวหนังอักเสบดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ อย่ารักษาด้วยตนเอง เพราะแม้พิษจากด้วงก้นกระดกไม่ทำให้มีอันตรายถึงชีวิตแต่ในบางรายอาจทำให้มีไข้สูงและมีอาการทางระบบหายใจได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *