ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศเริ่มเย็นลงและบางพื้นที่ยังมีฝนตกอยู่ ด้วยหลายๆ ปัจจัยที่ประกอบกันทำให้เป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วย 2 โรคที่พบบ่อย โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวมโดยในปีนี้
ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 2 โรคนี้กว่า 2.6 แสนคน เสียชีวิตเกือบ 300 ราย!
ถ้าไม่อยากกลายเป็น 1 ใน 2.6 แสนคน หรือเลวร้ายขนาดเป็น 1 ใน 300 คนแล้วล่ะก็… มาดามแนะนำว่าเราไปทำความรู้จักกับ 2 โรคที่ดูเหมือนเล็กแต่ร้ายกันก่อนดีกว่า
“โรคไข้หวัดใหญ่”
เกิดจากเชื้อไวรัสมีหลายสายพันธุ์ เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ติดต่อได้ง่ายจากการไอหรือจาม หรือเชื้อติดมากับมือ
อาการของโรคมักจะเกิดขึ้นด้วยอาการมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อยเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ ประมาณ 2–4 วัน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรพักผ่อนให้มากๆ หยุดเรียน หยุดทำงาน สวมหน้ากากอนามัย หากไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วันเสี่ยงมีอาการแทรกซ้อนขอให้พบแพทย์
“โรคปอดบวม”
เป็นโรคที่มีการติดเชื้อหรืออักเสบของปอด เกิดได้จากการติดเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา หรืออาจ เกิดจากได้รับสารเคมี ยาบางอย่าง
โดยโรคนี้ถือเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด มักเกิดแทรกซ้อนตามหลังโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ไตวาย เป็นต้น
อาการของโรคปอดบวมที่สำคัญ คือ ไอ เหนื่อย หายใจเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจลำบาก ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลการเฝ้าระวังโรคย้อนหลังพบว่าโรคปอดบวมพบผู้ป่วยสูงช่วงกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนและมกราคมถึงมีนาคม นอกจากนี้ยังพบว่า จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุดส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีประกาศเตือนภัยหนาว
รู้แบบนี้แล้วก็ต้องระมัดระวังกันให้มากขึ้นนะคะ 🙂