ท่ามกลางอาหารสำเร็จรูปที่มีให้เลือกซื้อหากันหลากชนิดหลายยี่ห้อ เราจะมีวิธีเลือกกินอย่างชาญฉลาดได้อย่างไร?
ขอบอกว่าคำตอบไม่ยากอย่างที่คิด แต่หนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่คุณไม่ควรละเลยคือ การอ่านฉลากก่อนซื้อและฉลากที่เราอยากให้คุณรู้จักก็คือ ฉลาก GDA
“ฉลากจีดีเอ”
หรือ “ฉลากหวาน มัน เค็ม” (Guideline Daily Amount) คือฉลากที่แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ในหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น ซอง ถุง กล่องของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น โดยฉลากจีดีเอจะแสดงอยู่ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีบางชนิด ได้แก่
1. อาหารขบเคี้ยว
ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วหรือทอดกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบ หรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส สาหร่ายทอดหรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอดหรืออบกรอบ หรือปรุงรส
2. ช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์ในทำนองเดียวกัน
3. ผลิตภัณฑ์ขนมอบ
ได้แก่ ขนมปังกรอบ หรือแครกเกอร์ หรือบิสกิตเวเฟอร์สอดไส้ คุกกี้ เค้ก และพาย เพสตรี ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้
4. อาหารกึ่งสำเร็จรูป
ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตามพร้อมซองเครื่องปรุง ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง
5. อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว
ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย
สัญลักษณ์ทางโภชนาการแบบจีดีเอ แบ่งเป็น 4 ส่วน
- ส่วนที่ 1 บอกให้ทราบถึงคุณค่าทางโภชนาการ
ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียม ที่ได้รับจากการบริโภคหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น ต่อ 1 ถุง หรือ ต่อ 1 ซอง เป็นต้น
- ส่วนที่ 2 บอกให้ทราบว่าเพื่อความเหมาะสมควรแบ่งกินกี่ครั้ง
- ส่วนที่ 3 บอกให้ทราบว่าเมื่อกินเข้าไปหมดทั้งถุงหรือซอง
จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมปริมาณเท่าไร ส่วนที่ 4 บอกให้ทราบว่าเมื่อกินหมดทั้งถุงหรือซองจะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมคิดเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
ตัวเลขที่ฉลากหวาน มัน เค็ม มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค เนื่องจากบอกให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้น มีปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม เท่าใด ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการบริโภคอาหารอย่างสมดุล โดยในแต่ละวันมีเป้าหมายในการรับประทานอาหาร ให้ร่างกายได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมันและโซเดียมไม่เกิน 100% ของปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้บริโภคได้ต่อวัน
รวมถึงใช้เปรียบเทียบปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมระหว่างผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกัน เพื่อเลือกบริโภคหรือหลีกเลี่ยงอาหารได้ตามความต้องการของแต่ละคน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการควบคุมอาหาร ผู้มีความเสี่ยงหรือป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ