ปิดประตูความเสี่ยงป้องกันเจ้าตัวเล็ก “จมน้ำ”

0

เป็นเรื่องที่มีการเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด สำหรับปัญหาเด็กจมน้ำเสียชีวิต บรรดาคุณแม่ทั้งหลายอย่าปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านหูไปเสียอย่างนั้น เพราะเจ้าตัวเล็กของคุณอาจเป็นเหยื่อรายต่อไป!!

สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาระหว่าง พ.ศ.2549-2558 มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจำนวน 10,923 คน เฉลี่ยเดือนละ 91 คน

ส่วนมากเกิดจากการลงไปเล่นน้ำหรือพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อขุด อ่างน้ำ เพราะบ่อน้ำมักจะมีลักษณะที่ลาดชันและลึก

ในจำนวนเด็กที่เสียชีวิตพบว่ากว่า 400 ราย อายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจมน้ำ ในแหล่งน้ำที่อยู่ในบ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง ตุ่มน้ำ อ่างน้ำ บ่อเลี้ยงปลา

ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็ก ต้องใส่ใจและสอนเด็กด้วยหลักง่ายๆ คือ… “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” หาวิธีหลอกล่อหรือสอนให้เจ้าตัวเล็กเข้าใจและจดจำ ว่าการเข้าใกล้หรือไปเล่นในแหล่งน้ำโดยปราศจากพ่อแม่เป็นเรื่องอันตรายและน่ากลัว

“อย่าใกล้” อย่าเข้าไปใกล้แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ
“อย่าเก็บ” เมื่อเห็นสิ่งของตกลงไปในน้ำอย่าเก็บของต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บให้
“อย่าก้ม” หรือชะโงกลงไปในโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มไปในภาชนะ

Ring buoy on the beach in summer

3 ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่หรือผู้ดูแลเพื่อป้องกันลูกน้อยวัยซนจากการจมน้ำ

1.ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

ไม่ปล่อยให้คลาดสายตาแม้เพียงชั่วขณะ หลายครั้งยามที่คุณแม่วุ่นอยู่กับการทำงานบ้าน หรือคุณพ่อกำลังคุยงานผ่านทางโทรศัพท์ก็อาจเป็นการเปิดช่องให้ลูก
น้อยห่างไกลสายตาได้ เพราะฉะนั้นอย่าเผอเรอปล่อยให้ลูกรักคลาดสายตาเด็ดขาด

2.จัดการแหล่งน้ำที่เด็กสามารถเข้าถึงได้

เช่น เทน้ำทิ้งหลังการใช้งาน ปิดฝาตุ่มหรือถังน้ำที่บรรจุน้ำไว้ ล้อมรั้วบ่อน้ำ สร้างประตูกั้น มีตัวอย่างให้เห็นไม่น้อยที่เด็กจมน้ำจากการเล่นน้ำในถังหรืออ่างน้ำในบ้าน

3.กำหนดพื้นที่เล่นให้เด็ก

โดยเฉพาะเด็กอายุ 0-2 ปี ควรสร้างคอกกั้นความสูงอย่างน้อย 51 เซนติเมตรขึ้นไป คอกกั้นแบบมีซี่ราว ต้องมีช่องห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร คอกเป็นแนวตั้งเพื่อไม่ให้เด็กสามารถปีนได้ และเป็นวัสดุที่ปลอดภัย

คุณพ่อคุณแม่อ่านแล้วก็นำไปปฏิบัติกันด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าตัวแสบกันค่ะ 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *