“โรคลมชัก” เป็นโรคทางระบบประสาทเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะทุพพลภาพทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่รู้สึกตัวเมื่อมีอาการชัก การดูแลผู้ที่มีอาการชักอย่างถูกวิธีจึงมีความจำเป็นและสำคัญต่อตัวผู้ป่วยมากเพราะจะช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยได้
โรคลมชักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์สมองอย่างเฉียบพลัน โดยมีการปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาจากเซลล์สมองจำนวนมากพร้อมกันจากจุดใดจุดหนึ่งหรือทั้งหมด รายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับโรคนี้เพื่อนๆ สามารถเข้าไปดูได้ที่บทความนี้ค่ะ “โรคลมชัก” ภัยเงียบที่อาจคร่าชีวิตคุณได้โดยไม่รู้ตัว
การดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธีเมื่อเกิดอาการชัก
- ควรจัดท่าให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกปลดเสื้อผ้าผู้ป่วยให้หลวม ศีรษะต่ำเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้สำลักสิ่งแปลกปลอมหรือน้ำลายเข้าไปในปอด
- เอาสิ่งตกค้างในปากออกให้หมด หากผู้ป่วยเกร็งอ้าปากไม่ได้ ห้ามใช้ไม้กดลิ้นหรือวัตถุใดๆ สอดเข้าไปในปากหรืองัดปากผู้ป่วยขณะเกร็งกัดฟัน เพราะอาจเกิดอันตรายฟันหักตกลงไปอุดหลอดลมได้
- หากมีไข้สูง (อุณหภูมิร่างกายเกิน 38 องศาเซลเซียส) ให้เช็ดตัวลดไข้
- ห้ามให้ยากินเพราะอาจสำลักได้และโทรศัพท์แจ้ง 1669 หรือรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
- หลังการชักผู้ป่วยอาจเพลียหลับไปควรพลิกตะแคงตัว เช็ดน้ำลาย สิ่งที่อุดกลั้นการหายใจ เช่น ฟันปลอมหรือเศษอาหารและอยู่กับผู้ป่วยจนกว่าจะรู้สึกตัวดี
ทราบแบบนี้แล้ว… หากพบคนใกล้ตัวป่วยก็จะได้นำไปใช้ได้นะคะ 🙂