เป็นอีกหนึ่งโรคในตระกูลมะเร็งที่คนไทยป่วยเป็นอันดับต้นๆ สำหรับ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” โดยโรคนี้พบได้ทั้งชายและหญิงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะวัยกลางคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เชื่อว่า เกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ ด้านพฤติกรรมการทานอาหาร และด้านพันธุกรรม
การตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดได้ สำหรับอาการเริ่มต้นที่อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น ระบบการขับถ่ายอุจจาระเริ่มผิดปกติ มีท้องผูกบ้างท้องเสียบ้าง สลับกัน เป็นๆ หายๆ โดยไม่ใช่ลักษณะอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ ที่มักถ่ายเป็นน้ำเหลว และเมื่อได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้ว อาการจะดีขึ้น
วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกล “มะเร็งลำไส้ใหญ่”
- การรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ทานผักผลไม้ เป็นประจำ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ส่วนที่ไหม้เกรียมจากการปิ้ง ย่าง ทอด รมควัน ลดอาหารไขมันสูง
- ควบคุมการขับถ่ายให้เป็นเวลา ระวังอย่าให้ท้องผูก
- หลีกเลี่ยงทานของทอด มัน เค็ม หวาน ปิ้ง ย่าง หมักดอง รวมถึงอาหารที่ถนอมด้วยเกลือและดินประสิว
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา
- ออกกำลังกายเป็นประจำทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด
- ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับทวารหนักและลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง เนื้องอก หรือมีบิดา มารดา ญาติพี่น้อง เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรตรวจลำไส้และทวารหนักอย่างน้อยปีละครั้ง
ทั้งนี้การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรเริ่มตั้งแต่เด็ก โดยผู้ปกครองควรปลูกฝังให้เด็กทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ปลาทะเล ผักผลไม้ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ธัญพืชประเภทข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด ลูกเดือย ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี หรือขัดสีน้อยที่สุดจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง