จากการติดตามสถานการณ์งูพิษกัด สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคในปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม พบผู้ถูกงูกัด 81 ราย พบมากในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมกันได้ร้อยละ 77 ของผู้ที่ถูกงูกัด จะเห็นได้ว่าเป็นตัวเลขที่สูงไม่น้อย ยิ่งตอนนี้เข้าฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่งูชุกชุม เราจึงควรมีความรู้ที่ถูกต้องเพื่อป้องกันอันตรายเมื่อถูกงูพิษกัด
สัญญาณ 6 ประการเมื่อถูกงูพิษกัด มีดังนี้
- มีรอยเขี้ยว 2 ข้าง และมีอาการบวมแดงรอบๆรอยกัด แต่บางครั้งอาจจะเห็นเพียงรอยเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกกัดบริเวณปลายมือปลายเท้า หรือบางครั้งอาจเห็นมากกว่า 2 รอยหากถูกกัดมากกว่า 1ครั้ง 2.อาจมีอาการปวดอย่างรุนแรง
- คลื่นไส้อาเจียน
- หายใจติดขัด หากรุนแรงอาจหยุดหายใจได้
- สายตาขุ่นมัว
- มีน้ำลายมากผิดปกติ
- หน้าชาไม่รู้สึกหรือชาตามแขนขาโดยพิษนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของงู เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม จะมีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหนังตาตก กลืนลำบาก พูดไม่ชัด และหยุดหายใจ
ภายหลังถูกงูพิษกัด ควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยบีบเลือดบริเวณบาดแผลออกเท่าที่ทำได้ เพื่อขจัดพิษงูออกจากร่างกาย ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่ ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง และรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยพยายามให้อวัยวะที่ถูกกัดเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด อาจดามบริเวณดังกล่าวให้อยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ เพื่อชะลอการซึมของพิษงู หากเป็นไปได้ ให้นำซากงูพิษที่กัดไปให้แพทย์ดูด้วย
สิ่งที่ไม่ควรทำในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกงูพิษกัด มีดังนี้
- ห้ามใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสิ่งอื่นๆ ทาแผล พอกแผล เนื่องจากอาจทำให้แผลติดเชื้อ
- ไม่ควรกรีดแผล เนื่องจากจะทำให้พิษงูกระจายเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น
- ไม่ควรใช้ปากดูดเลือดจากแผลงูกัด เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ดูดได้
- ห้ามให้ผู้ถูกงูกัดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน
- ห้ามขันชะเนาะเพราะอาจทำให้เนื้อตายได้
รู้ไว้ใช่ว่านะคะ!