การใช้ยาเพื่อลดน้ำหนักเป็นปัญหาที่พบมากในปัจจุบันโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ยิ่งสื่อออนไลน์เข้าถึงได้ง่าย แถมการค้าขายผ่านโลกโซเชียลก็รวดเร็วเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส หลายคนจึงตกเป็นเหยื่อของยาลดน้ำหนักที่โฆษณาเกินจริง ที่น่ากลัวคือยาเหล่านี้มักมีส่วนผสมของยาอันตราย และยาควบคุมพิเศษ หากใช้ไม่ระวังอาจอันตรายถึงชีวิต
5 ยาอันตรายที่มักผสมอยู่ในยาลดน้ำหนัก ต้องรู้!
- ไซบูทรามีน (Sibutramine) จัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ออกฤทธิ์กับประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารหากรับประทานมากๆ ติดต่อกันนานๆ อาจจะส่งผลให้ประสาทหลอน
- เฟนเทอร์มีน (Phentermine) เป็นยาในกลุ่มแอมเฟตามีน ออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่ม ทำให้เกิดการเบื่ออาหาร เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและมีผลทำให้เกิดอาการติดยาได้ แต่ยานี้ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคไทรอยด์เป็นพิษ เพราะอาจจะส่งผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
- บิสซาโคดิล(Bisacodyl) เป็นยาระบายโดยยาบิซาโคดิลจะกระตุ้นให้ผนังลำไส้ใหญ่บีบตัว ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวจนเกิดการขับถ่ายในที่สุดใช้บรรเทาอาการท้องผูกเท่านั้นไม่มีผลต่อการลดความอ้วน
- ฟูโรซีไมด์(Furosemide) เป็นยาขับปัสสาวะที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคหัวใจล้มเหลวผู้ใช้ยาดังกล่าวจะรู้สึกผอมลงเร็ว เนื่องจากน้ำหนักลดหลังจากใช้ยา แต่ผลข้างเคียงคือร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่
- ฟลูโอซีทีน(Fluoxetine) เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าและอาการในกลุ่มโรควิตกกังวลซึ่งมีผลข้างเคียงในการช่วยทำให้ไม่อยากอาหารนอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการผื่นคัน มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ เหงื่อออก สับสน มีอาการชักท้องเสีย วิงเวียน หายใจลำบาก เป็นต้น
บางครั้งยาลดน้ำหนักที่จำหน่ายตามสื่อออนไลน์อาจอยู่ในรูปแบบของยาที่จัดเป็นชุด ซึ่งประกอบด้วยไซบูทรามีน เฟนเทอร์มีน และบิสซาโคดิล บางตัวอย่างจัดเป็นชุดร่วมกับวิตามินเพื่อลดผลข้างเคียงจากการรับประทานอาหารน้อยลงและการใช้ยาระบายซึ่งยาที่ได้กล่าวมาทุกชนิดจะมีอาการข้างเคียง และอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องได้