หากคุณแม่พบลักษณะของผื่นที่เกิดจากการสัมผัสสารที่ระคายเคืองอย่างอ่อนๆ เป็นเวลานานๆ ผื่นที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะแดง และมีอาการคันร่วมด้วย หรือลักษณะของผื่นที่เกิดจากการสัมผัสสารระคายเคืองอย่างแรง จะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนอง จะมีอาการคันมาก
ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นการแพ้แบบระคายเคือง (Irritant contact dermatitis) ผื่นมักจะอยู่เฉพาะตรงที่สัมผัสสาร ไม่ค่อยพบกระจายไปบริเวณอื่น ซึ่งจะต่างจากผื่นจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารที่สัมผัส (Allergic contact dermatitis) ซึ่งจะลามไปที่อื่นได้
การแพ้สารต่างๆ ในเด็กเล็กจะมีเกิดได้ 2 แบบ ดังนี้…
แบบระคายเคือง (Irritant contact dermatitis)
เกิดจากการสัมผัสสารที่แพ้กับผิวหนังโดยตรง โดยไม่อาศัยปฏิกิริยาอิมมูน (Immune System*) จะพบบ่อยในเด็กอ่อน เนื่องจากผิวหนังบางและดูดซับสารผ่านผิวหนังได้ง่าย ถ้าเป็นสารที่ระคายเคืองอย่างแรง เช่น มีความเป็นกรดหรือด่างสูงๆ จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นทันที หลังสัมผัสสารเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าเป็นสารระคายเคืองอย่างอ่อนๆ เช่น สบู่ ผงซักฟอก จะเกิดผื่นหลังสัมผัสสารซ้ำหลายๆ ครั้ง
ผื่นจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารที่สัมผัส (Allergic contact dermatitis)
เกิดจากการสัมผัสสารที่มีคุณสมบัติกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาอิมมูน ในเด็กเล็กพบน้อยกว่าเด็กโต ส่วนใหญ่จะแพ้สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น นิเกิล ยางในรองเท้า กาว เป็นต้นค่ะ