เฮียว่าถ้าได้เอ่ยชื่อโรคอย่าง “กรดไหลย้อน” หลายคนน่าจะพอเคยได้ยินมาบ้าง ยิ่งในวัยคนทำงานด้วยแล้วอาจรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเคยโดนพิษจากโรคนี้มาแล้วก็ได้
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease) มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อหูรูดที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้มีการไหลย้อนของสารคัดหลั่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก เช่น กรด ด่าง แก๊ส ขึ้นมาที่บริเวณหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆตามมา หลักๆ จะมีอาการ 2 อย่างคือ
1. อาการแสบยอดอก (Heartburn) ได้แก่ อาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ที่ลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ
2. ขย้อนหรือสำรอก (Regurgitation) ได้แก่ อาการเรอเปรี้ยว ซึ่งอาการดังกล่าวนี้มักจะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนักๆ การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย ผู้ป่วยบางรายมีอาการ ไอ เสียงแหบ หอบหืด ฟันผุ เป็นต้น – อ้างอิง “กรดไหลย้อน” แค่เปลี่ยนนิสัย ก็ไม่ต้องกินยาแว้ว!!
สิ่งสำคัญเมื่อเพื่อนๆ ต้องประสบปัญหากับโรคนี้แล้ว “พฤติกรรมการกิน” ต้องปรับใหม่หมด เฮียได้ข้อมูลดีๆ จากชีวจิตซึ่งได้รับคำแนะนำจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา ที่กล่าวว่า การกินเป็นปัญหาสำคัญของผู้มีอาการของกรดไหลย้อนรองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา แนะนำการกินที่ไม่ถูกต้องไว้ดังนี้ครับ
กินมากไป
การกินอาหารปริมาณมากเกินไปในแต่ละมื้อ นอกจากจะทำให้คุณอ้วนแล้ว ภาวะน้ำหนักเกินนี้จะส่งผลให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบมากขึ้นดังนั้นควรกินอาหารครั้งละน้อยๆ
กินของทอด
บรรดาของทอดและอาหารที่ใช้น้ำมันปริมาณมากผัด จะทำให้กระเพราะอาหารเคลื่อนไหวช้าลง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
ดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และสุรา
เครื่องดื่มเหล่านี้นอกจากจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นแล้วยังทำให้หูรูดคลายตัวง่ายอีกด้วย
และที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือ การกินยาไม่เป็นเวลา เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารหรือเพิ่มการเคลื่อนไหวของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารเพื่อกำจัดกรด แม้ช่วยให้เห็นผลการรักษาเร็วขึ้น แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักกินยาเฉพาะเวลาที่อาการกำเริบ ไม่ยอมกินยาตามแพทย์สั่งลดขนาดยาหรือหยุดยาเอง จึงทำให้โรคนี้หายช้าด้วยนั่นเอง อย่างไรก็ดี ถ้ารู้แล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนการดูแลตัวเองใหม่กันนะครับ!