ธรรมดาตลอดทั้งปีก็แทบจะไม่มีลมหนาวพัดผ่านให้ชื่นใจแล้ว ยิ่งพอเข้าฤดูร้อนแบบเต็มตัวงานนี้ทำเอาชาวไทยทั่วประเทศแทบจะละลายไปกับแสงแดดอันร้อนแรงของดวงอาทิตย์โดยเฉพาะยามออกมาเผชิญกับสภาพอากาศหฤโหดนอกอาคารบ้านเรือน ร้อนตับแลบเยี่ยงนี้ไม่แปลกที่ร่างกายของเราจะได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ไม่อยากสุขภาพแย่ในหน้าร้อน เรามาหาวิธีรับมือกันเถอะ…
- หากรู้ว่าตนเองจะต้องออกไปอยู่กลางแดดก็ควรสวมเสื้อแขนยาว ใส่หมวก ใส่แว่นตากันแสงแดด ในส่วนของเสื้อผ้านั้นควรเลือกผ้าโปร่งสบายระบายอากาศได้ง่าย ไม่สวมเสื้อผ้าแนบเนื้อ
- ทาครีมกันแดดเป็นประจำแม้จะไม่ได้ออกแดดโดยทาครีมทั้งในบริเวณที่โดนแดดและในร่มผ้า เพราะนอกจากแสงแดดจะเป็นสาเหตุของโรคลมแดดแล้ว ยังเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนังอีกด้วย
- ดื่มน้ำเรื่อยๆ อย่างน้อย 1 ลิตร ป้องกันภาวะร่างกายสูญเสียน้ำเฉียบพลัน และควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอากาศร้อนทำให้การดูดซึมแอลกอฮอล์จะสูง ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เกิดอาการปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูงขึ้น ปัสสาวะบ่อย ขาดน้ำ เป็นต้น
- นอนหลับพักผ่อนให้พียงพอ คือ นอนประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอนั้นทำให้อ่อนเพลียเร็วขึ้น เครียด และมีผลต่อความดันโลหิต
- หากพบผู้ป่วยมีอาการหน้ามืด กระสับกระส่าย ควรปฐมพยาบาลขั้นต้นโดยรีบนำผู้ป่วยเข้ามาภายในร่ม ยกขาสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ถ้ายังมีสติให้จิบน้ำเย็น ปลดคลายเสื้อผ้า กระดุมที่รัดแน่นออกเพื่อระบายความร้อน หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลหรือโทร.สายด่วน 1669
- อาการเบื้องต้นของ โรคลมแดดหรือ ฮีตสโตรก (Heat Stroke) ได้แก่ รู้สึกกระหายน้ำมากๆ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ ช็อก หมดสติได้ ผู้ป่วยจะมีอาการตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีเหงื่อออก
- เด็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่ทำงานกลางแจ้งคือ กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรกได้ง่าย เพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน ฉะนั้นต้องใส่ใจสุขภาพและเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับอากาศร้อนจัด