ผ่านหูผ่านตากันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ทำให้หลายคนคุ้นเคยกันดีกับ “โรคคอพอก” ประมาณว่าจำได้ขึ้นใจว่าการขาดสารไอโอดีนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “คอพอก” ทราบถึงความเชื่อมโยงของไอโอดีนกับคอพอกกัน แล้วทราบกันหรือเปล่าว่า “โรคคอพอก” สามารถแบ่งแยกประเภทได้มากกว่าหนึ่งชนิด!!
คอพอก (Goitre/ Goiter)
โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์อันเกิดจากภาวะการขาดสารไอโอดีนของร่างกายทำให้มีลักษณะโตขึ้นกว่าปกติ ถ้าโตมากๆ จะกดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก ส่วนใหญ่คอพอกมักเกิดจากภาวะร่างกายขาดธาตุไอโอดีน ส่วนคอพอกที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆพบได้น้อย
ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) มีลักษณะเป็นกลีบ 2 กลีบ คล้ายปีกผีเสื้อ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร อยู่ด้านหน้าของหลอดลม ต่อมนี้ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของระบบประสาท และสมอง และระบบเนื้อเยื่อของร่างกายด้วยฮอร์โมนไทร๊อกซิน (thyroxine) โดยอาศัยสารไอโอดีนช่วยในการสร้างฮอร์โมน โดยต่อมไทรอยด์เองสามารถดึงไอโอดีนจากส่วนต่างๆของร่างกาย และเก็บกักไว้ภายในต่อมตัวเองได้
โดยทั่วไปแบ่งคอพอกได้เป็นหลายชนิด แต่ในที่นี้ขอแบ่งคอพอกตามการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะและการทำงานของเซลล์ต่อมไทรอยด์ ออกเป็น 4 ชนิด คือ
- ชนิดต่อมไทรอยด์โตเรียบทั่วทั้งต่อมและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนปกติ (Diffuse nontoxic goitre)เป็นคอพอกที่เกิดจากเซลล์ต่อมไทรอยด์เจริญเพิ่มจำนวนทั่วทั้งต่อมไทรอยด์แต่ต่อมยังทำงานปกติ
- ชนิดต่อมไทรอยด์เป็นตะปุ่มตะป่ำและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนปกติ (Nontoxic multinodulargoitre)ทั้งนี้ต่อมไทรอยด์อาจมีขนาดโตไม่มาก ไปจนถึงโตได้เป็นหลายๆเซนติเมตร
- ชนิดต่อมไทรอยด์เป็นตะปุ่มตะป่ำและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเกินปกติ (Toxic multinodulargoitre)ผู้ป่วยมักมีอาการต่อมไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย แต่ละคนมีอาการมากน้อยต่างกัน
- ชนิดมีปุ่มเนื้อปุ่มเดียวและปุ่มเนื้อสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเกินปกติ (Hyperfunctioning solitary nodule)คอพอกชนิดนี้พบได้น้อยมาก โดยผู้ป่วยมักมีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย แต่อาการไม่มาก
โดยทั่วไปคอพอกเกือบทุกชนิดเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้เสมอ นอกจากนี้อาจป้องกันไม่ให้เป็นคอพอกได้โดยการกินไอโอดีนในปริมาณเหมาะสมตามความต้องการของร่างกาย ซึ่งแต่ละช่วงวัยจะไม่เท่ากัน เช่น ผู้ใหญ่ควรได้รับสารไอโอดีนประมาณ 150 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 175 ไมโครกรัม