ลูกโง่…หรือเป็น ‘LD’ กันแน่?

0

หากเป็นเมื่อก่อนถ้าลูกอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เมื่อเทียบกับเด็กในช่วงวัยเดียวกัน เราก็คงโทษว่าลูกเราโง่ เรียนไม่เก่ง แต่ในระยะหลังพ่อแม่หลายท่านเริ่มทราบว่ามีโรคที่ทำให้ไม่สามารถอ่านเขียนได้ด้วยนั่นคือ “โรค LD”

บางท่านอาจจะรู้จักเป็นอย่างดี บางท่านอาจจะยังรู้จักผิวเผิน ดังนั้น ลองมาทำความรู้จักกันให้ดีขึ้นกันดีกว่า

LD1

โรค LD

Learning Disabilities หรือ LD คือ ภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้ แต่สติปัญญาอยุ่ในเกณฑ์ปกติหรืออาจจะฉลาดกว่าเด็กคนอื่นก็ได้ โดยที่การเรียนรู้ในด้านใดด้านหนึ่งจะช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน

  • มีปัญหาเรื่องการเขียน เช่น เขียนตัวหนังสือกลับหลัง เขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์สลับตำแหน่งกัน
  • มีปัญหาเรื่องการคำนวณ เช่น เขียนตัวเลขผิด ไม่เข้าใจเครื่องหมาย สัญลักษณ์ ค่าของตัวเลขหลักต่างๆ หรือไม่เข้าใจวิธีการคำนวณตัวเลข
  • มีปัญหาเรื่องการลำดับเหตุการณ์ การทำตามคำสั่ง การให้เหตุผล หรือเรียนแล้วลืม
  • มีปัญหาในการอ่าน เช่น อ่านตกหล่น อ่านสลับพยัญชนะ อ่านข้ามคำ อ่านไม่ได้ใจความ ไปจนถึงอ่านไม่ออกเลย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ทุกคนจะมีตามที่กล่าวมาทุกข้อ อาจจะเป็นข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งก็ได้ ที่สำคัญคือ ผู้ใหญ่มักเกิดความเข้าใจผิดว่า เด็กเหล่านี้เป็นเด็กเกียจคร้าน ไม่ตั้งใจเรียน เลยเถิดไปว่าหนีเรียนเลย ทั้งนี้สาเหตุที่แท้จริงของโรคดังกล่าวเกิดจากอะไร เรามีคำตอบค่ะ

สาเหตุของโรค LD

อันที่จริงแล้วโรค LD เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่สามารถเจาะจงหรือบอกได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่คืออะไร และเนื่องจากความบกพร่องทางการเรียนรู้นี้เป็นเสมือนโรคที่ซ่อนเร้น ทำให้บางครั้งเด็กจะไม่แสดงอาการออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ดังนั้นพ่อแม่จะต้องใส่ใจในการเลี้ยงดูลูกๆ อย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม ก็พอมีเค้ารางของสัญญาณที่อาจะทำให้ลูกเป็นได้ อาทิ

  • พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย มีประวัติเป็น LD หรือไม่
  • ลูกมีภาวะความบาดเจ็บทางสมองจากการคลอดก่อนหรือหลังกำหนด
  • แม่มีอายุน้อยมากหรือไม่
  • ลูกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ตอนแรกเกิดมากไหม
  • ลูกเคยเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของอวัยวะ เช่น หู ซึ่งสามารถสร้างความกระทบกระเทือนไปถึงสมองบางส่วนหรือไม่
  • ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ เช่น มลพิษจากสารตะกั่ว หรือเปล่า

LD2

ข้อสังเกตในแต่ละวัย

วัยอนุบาล การสังเกตลูกว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้หรือไม่ พ่อแม่ต้องสังเกตจากพัฒนาการของลูกว่าเป็นไปตามปกติหรือเปล่า โดยเฉพาะด้านสติปัญญาที่จะส่งผลสัมพันธ์กับพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น

  • เขาสามารถพูดคุยออกเสียงได้ชัดเจน สื่อสารได้ เข้าใจนิทานหรือเรื่องอิงจินตนาการที่คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟัง
  • ความเข้าใจเรื่องมิติสัมพันธ์ รู้จักด้านซ้าย ด้านขวา ไม่ใส่รองเท้าสลับข้าง เขียนอักษรได้ถูกต้อง ไม่สลับทิศทาง เป็นต้น
  • การทำงานประสานกันระหว่างตาและมือ และการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  • สามารถนับเลขจำนวนง่ายๆ ได้ เช่น นับ 1-10 ได้ เป็นต้น

วัยประถม โตพอที่จะสามารถสังเกตเรื่องการเรียนรู้และการศึกษาได้อย่างชัดเจนแล้ว เช่น

  • สังเกตช่วงทำการบ้านว่าเขามีความสนใจหรือใส่ใจมากน้อยแค่ไหน ลองดูเงื่อนไข หรือโจทย์การบ้านที่คุณครูให้มาว่ามีความยากง่ายอย่างไร แล้วเปรียบเทียบว่าเจ้าหนูใช้เวลาทำการบ้านนานเกินไปหรือเปล่า
  • ลองสังเกตว่าลูกมีความเข้าใจในบทเรียนต่างๆ มากน้อยแค่ไหน เมื่อคุณพ่อคุณแม่ซักถาม เขาสามารถอธิบายให้คุณเกิดความเข้าใจได้หรือไม่
  • เด็กวัยประถมควรอ่านสะกดคำได้ อ่านแล้วสามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาก่อนหรือหลังได้อย่างเข้าใจ
  • มีความเข้าใจเรื่องการคิดคำนวณ บวก ลบ คูณ หารเลขลักหน่วย หลักสิบ เป็นต้น

ป้องกันการเป็น LD

เมื่อ LD เกี่ยวพันโดยตรงกับพัฒนาการด้านสมองและสติปัญญาของลูก ดังนั้นต้องดูแลเรื่องสมองของลูกมากเป็นพิเศษ ในช่วงวัย 3-5 ปีนั้น ถือเป็นโอกาสทองของสมองเด็ก ซึ่งเมื่ออายุ 5 ปีสมองของเด็กจะโตเต็มที่ เริ่มบอกได้แล้วว่าจะถนัดทางด้านไหน ซึ่งหากได้รับการกระตุ้นที่ดีลูกของคุณอาจจะเป็นเด็กที่ฉลาดกว่าเกณฑ์เฉลี่ยก็ได้

  • กระตุกสมองด้วยจินตนาการ สิ่งที่จะกระตุ้นสมองของเด็กได้เป็นอย่างดีก็คือ การเล่น โดยเฉพาะการเล่นที่ใช้จินตนาการ การฟังนิทาน ของเล่นใกล้ตัวลูกสมัยนี้ เช่น เกม ทั้งคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย
  • ปลอดภัยจากสารพิษ สภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตของเด็กมีความสำคัญมาก ดังนั้นต้องคอยระวังให้ลูกเล่นอยู่ในสถานที่ปลอดภัย ห่างไกลมลพิษที่อาจก่อให้เกิดโรคอันส่งผลต่อสมองน้อยๆ ของลูกได้ เช่น ไม่ให้ลูกอยู่ในสถานที่ที่มีสารตะกั่วนานเกินไป อย่างริมถนนที่รถพลุกพล่าน อู่ซ่อมรถที่มีการบัดกรีต่างๆ เป็นต้น
  • เวลาทองของครอบครัว พ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรเวลาของครอบครัวที่ทุกคนจะได้มาทำกิจกรรมร่วมกันเช่น เล่นบทบาทสมมติ อ่านหนังสือ การสอนให้ลูกมีทักษะการคิด การคำนวณ วาดภาพ หรือเล่นเกมสังเกตและทายสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นต้น อย่าลืมว่าจำนวนชั่วโมงที่ใช้ร่วมกันนั้นไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของกิจกรรมที่พ่อแม่ทำกับลูก
  • งานบ้านฝึกสมอง ให้ลูกช่วยทำงานบ้านง่ายๆ ที่ส่งเสริมทักษะการใช้ความคิด และกระตุ้นพัฒนาการของสมองอย่างสม่ำเสมอ เช่น ช่วยจัดช้อนส้อม จานชามจัดโต๊ะอาหาร จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้เรื่องการจัดกลุ่ม แยกประเภท ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนการสร้างพิมพ์เขียวให้สมองของเด็กเลยทีเดียว

คุณพ่อคุณแม่ทราบอย่างนี้แล้ว ก็ต้องเริ่มหมั่นสังเกตเจ้าตัวน้อยในบ้านได้เลยนะคะว่า ลูกของเราเข้าค่ายเป็นโรค LD หรือไม่ หากสงสัยก็สามารถนำลูกไปพบกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กได้เลยค่ะ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *