แม้เราจะถูกปลูกฝังกันมายาวนานว่า “ผัก-ผลไม้” เป็นอาหารที่เปี่ยมด้วยคุณประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หลายคนคงลืมนึกไปว่าการรับประทานผักผลไม้ให้ได้ประโยชน์ต้องอยู่ในกรอบของความพอดี ผักผลไม้หลายชนิดทีเดียวที่รับประทานในปริมาณมากอาจจะเป็นพิษได้ หรือบางชนิดถ้ารับประทานสดๆ ก็จะเป็นพิษ รวมถึงบางชนิดมีสารหรือแร่ธาตุบางชนิดในปริมาณสูง อาจจะก่อเกิดโทษกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางโรคได้
ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้ที่มีสารที่มีกรดออกซาลิก (oxalic acid) ปริมาณสูง โดยกรดออกซาลิกเป็นกรดอินทรีย์ที่สามารถพบได้ในอาหารทั่วไป โดยเฉพาะในพืชผัก และผลไม้ ถือเป็นกรดที่มีความเป็นกรดสูงกว่ากรดน้ำส้ม (Acetic acid) 10,000 เท่าโดยผัก และผลไม้ต่างๆที่มีกรดออกซาลิกมาก ได้แก่ มันสำปะหลัง โกฐน้ำเต้าผักโขม ปวยเล้ง มะเฟืองเปรี้ยว ใบชะพลู เป็นต้น
หากร่างกายได้รับกรดออกซาลิกขนาด 5-15 กรัม สามารถทำให้ตายได้ หากได้รับในปริมาณน้อยอย่างต่อเนื่องจะสะสมในร่างกาย โดยการตกตะกอนร่วมกับแคลเซียม เป็นผลึกแคลเซียมออกซาเลต ที่สะสมในไต กระเพาะปัสสาวะ หัวใจ และสมองได้ ผลจากการสะสมมักทำให้เกิดโรคนิ่วในบริเวณต่างๆหรือกดทับระบบประสาทหากสะสมในสมอง
ในส่วนของความเป็นพิษแบบเฉียบพลันเมื่อรับประทานผักที่มีกรดออกซาลิกสูง คือ มีอาการปวดท้อง ลำไส้อักเสบ อาเจียน ท้องร่วง มีอาการชัก เลือดไม่แข็งตัว และตายได้
สำหรับผู้ป่วยโรคไตมักจะมาด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเอว ปัสสาวะปริมาณลดลง ผลการตรวจปัสสาวะอาจพบเม็ดเลือดแดงปนร่วมกับผลึกแคลเซี่ยมออกซาเรท ตัวอย่างที่พบได้บ่อย คือ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือคนปกติที่ชอบรับประทานน้ำคั้นมะเฟืองเปรี้ยวในปริมาณมากและบ่อยๆหรือการรับประทานก้านโกฐน้ำเต้าในปริมาณมาก
นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผัก ผลไม้ที่มีปริมาณโพแทสเซียมสูง ทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมเกิน ไตต้องทำงานหนักในการขับแร่ธาตุ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังบริโภค น้ำลูกยอ ทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมเกิน ทั้งนี้เพราะว่าน้ำลูกยอมีปริมาณโพแทสเซียมสูง รวมถึงผลไม้บางชนิดควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ทุเรียนก้านยาว ทุเรียนชะนี กล้วยหอม ส้มสายน้ำผึ้งผักโขม และหน่อไม้เพราะมีโพแทสเซียมสูง